การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี
การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี เป็นกรรมวิธีที่นำสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยนำเอาแมลงและสัตว์อื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ ได้แก่ ตัวห้ำ ตัวเบียน และเชื้อโรค มาช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืช วิธีการนี้เป็นวิธีการดั้งเดิมซึ่งมนุษย์มีแนวความคิดที่จะใช้สิ่งที่มีประโยชน์ในธรรมชาติมาช่วยปราบแมลงศัตรูพืช เป็นการลดการใช้ยาฆ่าแมลงซึ่งเป็นอันตรายทั้งต่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม
การใช้ แมลง กำจัดแมลง
ในสภาพธรรมชาติ มีสิ่งมีชีวิตที่ดำรงชีพโดยการกินหรืออาศัยสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นเป็นอาหาร ซึ่งเรียกสิ่งมีชีวิตกลุ่มนี้ ว่าตัวห้ำและตัวเบียน แต่ในทางการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี เราจะมองเฉพาะในกลุ่มของแมลงเป็นหลัก เนื่องจาก แมลงเป็นกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่มีมากที่สุดและมีศักยภาพในการสามารถนำมาพัฒนาเพื่อใช้ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเรียกแมลงกลุ่มนี้ว่า แมลงห้ำ และแมลงเบียน
แมลงห้ำ ในทางวิชาการ หมายถึง แมลงที่กินแมลงชนิดอื่น ๆ เป็นอาหาร และจะกินเหยื่อได้หลายตัว จนกว่าจะเจริญเติบโตครบวงจรชีวิต ซึ่งการกินจะกินเหยื่อไปเรื่อย ๆ และมักจะไม่จำกัดวัยของเหยื่อคือสามารถทำลายเหยื่อได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ตัวห้ำที่เรารู้จักกันดีเช่น ด้วงเต่าชนิดต่าง ๆ ตั๊กแตนตำข้าว แมลงปอ มวนเพชฌฆาต และมวนพิฆาต เป็นต้น
แมลงห้ำ ที่นำมาใช้ควบคุมศัตรูพืชและสามารถนำมาเพาะเลี้ยงเพิ่มปริมาณได้ง่าย เช่น
มวนพิฆาต และมวนเพชฌฆาต ใช้ควบคุม หนอนศัตรูพืชหลายชนิด เช่น หนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนชอนใบ หนอนร่านกินใบปาล์ม เป็นต้น | |
ด้วงเต่าลาย ใช้ควบคุม เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไก่ฟ้ากระถิน เป็นต้น | |
แมลงช้างปีกใสใช้ควบคุม เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟ ไรแดง เพลี้ยหอย (ระยะตัวอ่อน) นอกจากนี้ แมลงช้างปีกใส ยังกินไข่และตัวหนอนขนาดเล็กๆ ของหนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนม้วนใบ หนอนชอนใบส้ม ฯลฯ ได้อีกด้วย | |
แมลงหางหนีบใช้ควบคุม เพลี้ยอ่อน หนอนกออ้อยชนิดต่างๆ หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด หนอนกระทู้ข้าวโพด หนอนเจาะสมอฝ้าย เป็นต้น | |
http://pmc04.doae.go.th/
แมลงเบียน หมายถึง แมลงที่เบียดเบียนเหยื่อ หรือเกาะกินอยู่กับเหยื่อ จนกระทั่งเหยื่อตาย และการเป็นตัวเบียนนั้นจะเป็นเฉพาะในช่วงที่เป็นตัวอ่อนเท่านั้น เมื่อเป็นตัวเต็มวัยจะหากินอิสระ และในช่วงอายุหนึ่ง ๆ ต้องการเหยื่อเพียงตัวเดียวเท่านั้น
ตัวเบียนหรือแมลงเบียนมีหลายประเภท เช่น แมลงเบียนไข่ แมลงเบียนหนอน แมลงเบียนดักแด้ เป็นต้น ตัวอย่างของแมลงเบียนที่เป็นที่รู้จักกันดีและมีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายได้แก่ แตนเบียนหนอนกออ้อย (แตนเบียนไตรโคแกรมมาและแตนเบียนโคทีเซีย) แตนเบียนไข่ของมวนลำไย และแตนเบียนหนอนแมลงวันผลไม้
แตนเบียนไตรโคแกรมมา เป็นแตนเบียนที่มีขนาดเล็กมาก แต่มีความสามารถในการทำลายไข่ผีเสื้อศัตรูพืชหลายชนิด ได้แก่ ไข่ผีเสื้อหนอนกออ้อย ไข่ผีเสื้อหนอนกอข้าว ไข่ผีเสื้อหนอนม้วนใบข้าว ไข่ผีเสื้อหนอนเจาะลำต้นข้าวโพด ไข่ผีเสื้อหนอนคืบละหุ่ง ไข่ผีเสื้อหนอนคืบกะหล่ำ ไข่ผีเสื้อหนอนเจาะสมออเมริกัน เป็นต้น | |
แตนเบียนโคทีเซีย เป็นแตนเบียนที่เข้าทำลายตัวหนอนของ หนอนกออ้อยหลายชนิด เช่น หนอนกอลายจุดใหญ่ หนอนกอลายจุดเล็ก หนอนกอแถบลายหรือหนอนกอลายใหญ่ และหนอนกอสีชมพู | |
แตนเบียนแมลงวันผลไม้ เป็นแตนเบียนที่เข้าทำลายตัวหนอนของแมลงวันผลไม้ได้หลายชนิด เช่น แมลงวันผลไม้ที่ทำลายมะม่วง พุทรา ชมพู่ กระท้อน ฝรั่ง ฯลฯ และ แมลงวันผลไม้ที่ทำลายพริก | |
การใช้ เชื้อโรค กำจัดแมลงและโรคพืช
ในปัจจุบันมีการนำ เชื้อโรค หรือเชื้อจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ เช่น เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส มาใช้ในการควบคุมหรือกำจัดแมลงศัตรูพืช รวมทั้งโรคพืช ต่างๆ ได้หลายชนิด และได้มีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง กำจัดโรคพืชออกวางจำหน่ายเป็นการค้าอย่างกว้างขวาง ซึ่งข้อดีของจุลินทรีย์ คือ มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ และสิ่งแวดล้อม เชื้อจุลินทรีย์ที่สามารถนำมาผลิตเพื่อใช้ควบคุมศัตรูพืช ยกตัวอย่างได้ดังนี้
กลุ่มเชื้อรา ได้แก่
1.เชื้อราไตรโคเดอร์มา ใช้ควบคุมโรครากเน่า-โคนเน่า ที่เกิดจากเชื้อรา โรคแอนแทรกโนส ในพืชผัก ไม้ผล ไม้ดอกไม้ประดับ
2. เชื้อราบิวเวอเรีย ใช้ กำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่นต่างๆ เพลี้ยไฟ ไรแดง
3. เชื้อราเมตตาไรเซี่ยม ใช้ควบคุมด้วงหนวดยาวอ้อย แมลงนูนหลวง ด้วงแรด แมลงปีกแข็งต่างๆ กลุ่มเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่
1.เชื้อบีที หรือ บาซิลลัสทูรินจิเอ็นซิส มีหลายชนิด ใช้ป้องกันกำจัดหนอนศัตรูพืชเช่นหนอนกระทู้ต่างๆ หนอนใยผัก หนอนเจาะฝักและลำต้น ด้วงหมัดผัก เป็นต้น
2. เชื้อบีเอส หรือ บาซิลลัส ซับทีลิส ใช้ควบคุมโรครากเน่า-โคนเน่าจากเชื้อราไฟทอปธอร่า โรคกาบใบแห้ง โรคไหม้ในข้าว
ปัจจุบัน มีการผลิตเชื้อบีทีชนิดต่างๆ เป็นการค้า อย่างกว้างขวาง
กลุ่มเชื้อไวรัส ได้แก่ เชื้อไวรัส เอ็น พี วี เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคกับหนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม และหนอนเจาะสมอฝ้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น