1. เนื้อเยื่อเจริญ (meristematic tissue) หมายถึง เนื้อเยื่อที่มีการแบ่งเซลล์ตลอดเวลา แบ่งได้ 3 ชนิดคือ
1.1 เนื้อเยื่อเจริญส่วนปลาย (apical meristem) หมายถึง เนื้อเยื่อเจริญที่บริเวณปลายยอดและปลายราก มีหน้าที่แบ่งเซลล์เพื่อให้ส่วนของลำต้นและรากยาวขึ้น
1.2 เนื้อเยื่อเจริญด้านข้าง (lateral meristem) เนื้อเยื่อเจริญที่อยู่ด้านข้างของลำต้นหรือราก ได้แก่ vascular cambium และ cork cambium มีหน้าที่แบ่งเซลล์เพื่อให้ส่วนของลำต้นและรากมีขนาดใหญ่ขึ้น
1.3 เนื้อเยื่อเจริญเหนือข้อ (intercalary meristem) หมายถึง เนื้อเยื่อเจริญที่บริเวณเหนือข้อของลำต้นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว และก้านของช่อดอกบางชนิด มีหน้าที่แบ่งเซลล์เพื่อให้ส่วนปล้องหรือก้านช่อดอกยืดยาวขึ้น
2. เนื้อเยื่อถาวร (permanent tissue) เป็นเนื้อเยื่อของเซลล์ที่เจริญและเปลี่ยนแปลงมากจากเซลล์ของเนื้อเยื่อเจริญ เพื่อทำหน้าที่เฉพาะ
2.1 เนื้อเยื่อถาวรเชิงเดี่ยว (simple permanent tissue) ได้แก่ เนื้อเยื่อถาวรที่ประกอบด้วยเซลล์ที่มีลักษณะเหมือนกัน ที่ทำหน้าที่เฉพาะร่วมกัน ได้แก่
2.1.1 เนื้อเยื่อชั้นผิว (epidermis) เป็นเนื้อเยื่อชั้นนอกสุดของส่วนต่างๆ ในการเจริญขั้นแรก แต่จะไม่พบที่บริเวณหมวกราก (root cap) และที่เนื้อเยื่อเจริญส่วนปลาย ทำหน้าที่ป้องกันเนื้อเยื่อที่อยู่ภายใน ป้องกันการระเหยของน้ำ แลกเปลี่ยนแก็ส เนื้อเยื่อชั้นผิวของราก ช่วยในการดูดซึมน้ำเพราะมีผนังเซลล์บาง และมีขนราก (root hair) ที่ช่วยเพิ่มพื้นที่สัมผัส
2.1.2 พาเรงคิมา (parenchyma) เป็นเนื้อเยื่อที่พบมากที่สุดและพบในทุกๆ ส่วนของพืช เซลล์ที่ประกอบกันเป็นเนื้อเยื่อ parenchyma เป็นเซลล์ที่ยังมีชีวิต รูปร่างเกือบจะเป็นทรงกลม ผนังเซลล์บาง เพราะมีเฉพาะผนังเซลล์ปฐมภูมิ(primary wall) เซลล์ที่มีคลอโรพลาสต์จะทำหน้าที่ในการสังเคราะห์ด้วยแสง เซลล์ที่อยู่ในรากหรือลำต้นพิเศษบางชนิดจะทำหน้าที่ในการเก็บสะสมอาหาร พาเรงคิมาของพืชบางชนิดทำหน้าที่เป็นต่อมสร้างสารบางชนิด เช่น สร้างน้ำมันหอมระเหย พาเรงคิมาบางชนิดทำหน้าที่ในการลำเลียง เช่น ไซเล็มพาเรงคิมา (xylem parenchyma) โฟลเอ็มพาเรงคิมา (phloem parenchyma)
2.1.3 คอลเลงคิมา (collenchyma) เป็นเนื้อเยื่อที่มีชีวิต ประกอบด้วยเซลล์รูปร่างค่อนข้างยาว มีผนังเซลล์ชั้นแรกหนา โดยทั่วไปจะหนาไม่สม่ำเสมอกัน ทำหน้าที่เสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่ส่วนของพืชที่ยังอ่อน และส่วนที่มีอายุมากแล้วของพืชที่ไม่มีเนื้อไม้ (herbaceous plant) คอลเลงคิมามักเกิดใต้เนื้อเยื่อชั้นผิว หรือห่างจากเนื้อเยื่อชั้นผิวเล็กน้อย พบในส่วนของลำต้น ใบ ก้านใบ ดอก ผล และราก
2.1.4 สเกลอเรงคิมา (sclerenchyma) เป็นเนื้อเยื่อที่ประกอบด้วยเซลล์ที่มีผนังหนา โดยมีผนังเซลล์ชั้นที่สองเกิดขึ้นและส่วนมากมักมีลิกนิน เมื่อเซลล์เจริญเติบโตเต็มที่จะไม่มีโพรโทพลาสต์ ทำหน้าที่เสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่ลำต้นหรือส่วนอื่นๆ ของพืช มักพบตามส่วนของพืชที่มีลักษณะแข็ง เช่น เปลือกหุ้มเมล็ด เปลือกผล กะลามะพร้าว หรือเนื้อผลไม้บางชนิดเช่น น้อยหน่า ฝรั่ง สเกลอเรงคิมามี 2ชนิด คือ
2.1.4.1 สเกลอรีด (sclereid) เป็นเซลล์ที่มีรูปร่างได้หลายแบบ มักจะมีรอยเว้า (pit) จำนวนมากและเห็นได้ชัดเจนกว่าไฟเบอร์
2.1.4.2 ไฟเบอร์ (fiber) เป็นเซลล์ที่มีรูปร่างยาว มีความยาวมากกว่าความกว้างหลายเท่า ไฟเบอร์ของพืชบางชนิดมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น เส้นใยของลินิน กัญชง
2.2 เนื้อเยื่อถาวรเชิงซ้อน (complex permanent tissue) เนื้อเยื่อถาวรที่ประกอบด้วยเซลล์หลายชนิด ที่ทำหน้าที่เฉพาะร่วมกัน ได้แก่
2.2.1 ไซเล็ม (xylem) เป็นเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการลำเลียงน้ำ และธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตจากรากไปสู่ส่วนบนของลำต้น มักอยู่ติดกับโฟลเอ็ม (phloem) และเรียกรวมกันว่า เนื้อเยื่อลำเลียง (vascular tissue) ซึ่งพบในทุกส่วนของพืช เนื้อเยื่อไซเล็มประกอบด้วยเซลล์หลายชนิด ได้แก่ เซลล์ที่ทำหน้าที่เป็นท่อน้ำ คือ เวสเซล (vessel) และเทรคีด (tracheid) เซลล์เส้นใยของไซเล็ม(xylem fiber) พาเรงคิมาของไซเล็ม (xylem parenchyma ) ซึ่งมีทั้ง (axial parenchyma) และ พาเรงคิมาแนวรัศมี (ray parenchyma)
2.2.2 โฟลเอ็ม (phloem) เป็นเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการลำเลียงน้ำตาลที่ได้จากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงและสารอินทรีย์ต่างๆ ประกอบด้วยเซลล์หลายชนิด ได้แก่ เซลล์ท่อลำเลียงอาหาร (sieve-tube member) เซลล์ประกบ (companion cell) เซลล์เส้นใยของโฟลเอ็ม (phloem fiber) และสเกลอรีด(sclereid) พาเรงคิมาของโฟลเอ็ม (phloem parenchyma) และ เนื้อเยื่อแนวรัศมีของโฟลเอ็ม (phloem ray)
2.2.3 เพริเดิร์ม (periderm) เป็นเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่ป้องกันเนื้อเยื่อที่อยู่ภายในในการเจริญเติบโตขั้นสองของพืช โดยเกิดขึ้นแทนที่เนื้อเยื่อชั้นผิว ประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 3 ชนิด ได้แก่ คอร์กหรือเฟลเลม (cork หรือ phellem) คอร์กแคมเบียมหรือเฟลโลเจน (cork cambium หรือ phellogen)และ คอร์กกี้พาเรงคิมาหรือเฟลโลเดิร์ม (corky parenchyma หรือ phelloderm)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น